มีหลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี?” คำถามนี้ผมพบมากในกลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะมือใหม่ และอาจจะรวมถึงมือเก่าที่เล่นหุ้นมาได้พักใหญ่ แต่ยังจับกลยุทธ์การลงทุนได้ยังไม่ตรงเป้ากับตัวเองนัก
ในช่วงนี้ที่ตลาดหุ้นไทยยังเป็น “ขาลง” คิดว่าจนถึงสิ้นปีก็ยังไม่น่าจะเห็นภาพที่สดใสนัก ในเวลานี้คนที่เป็นนักลงทุนตัวจริงจะทำกันคือ “ศึกษาหาหุ้นพื้นฐานดี” เพื่อซื้อลงทุนในระยะยาว คำถามที่ยังก้องอยู่ในหัวของนักลงทุนตลอดเวลา คือ “แล้วหุ้นตัวไหนมันพื้นฐานดีหละ?”
จากการที่ผมได้คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานาน และลงทุนในหุ้นมากว่าสิบปี ทำให้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง และผ่านทั้งช่วงที่ตลาดแย่ และดีสลับกันไป ขึ้นอยู่กับวัฏจักรของธุรกิจ และภาพรวมของเศรษฐกิจว่าเป็นไปในทิศทางไหน หุ้นจะมี “ขึ้น” มี “ลง” เสมอ เปิดโอกาสให้ “นักลงทุนผู้ฉลาดเลือก และฉลาดลงทุน” ได้เก็บสะสมหุ้นดีเข้าพอร์ต เพื่อผลตอบแทนที่น่าพอใจในยามที่ตลาดหุ้นกลับมาสดใสอีกครั้ง
ดังนั้น วันนี้อยากจะขอนำเอา หลักการง่ายๆ 15 ข้อ ที่จะช่วยให้นักลงทุนนั้นสามารถนำเอาไปคัดกรองหุ้น หรือ “สุดยอดหุ้น” ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนด้านการลงทุนที่มากได้ ซึ่งหลักการเหล่านี้พิสูจน์มาแล้วในระยะยาว โดยนักลงทุนระดับโลก และผู้จัดการกองทุนระดับโลก ใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง และ กองทุนเหล่านั้นสามารถเอาชนะผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์รวมได้อย่างขาดลอย
15 หลักการเลือกหุ้นพื้นฐานดี เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี?” มีดังนี้ครับ
- สินค้า และบริการ มีศักยภาพในการเติบโต หมายถึงว่า บริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนในหุ้นนั้น จะต้องมีสินค้า หรือ บริการที่ น่าใช้ และน่าดึงดูดใจ สำหรับผู้บริโภค ทำให้เกิดการซื้อ ซ้ำ ใช้ ซ้ำ ทำให้ยอดขาย สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆ ปีได้
- ผู้บริหารต้องมีวิสัยทรรศน์ นักลงทุนจะต้องมองโหวงเฮ้งผู้บริหารด้วยว่า เป็นคนที่มองการไกล หรือ ไม่ เพราะผู้บริหารต้องสามารถนำพาให้บริษัท สามารถเพิ่มยอดขายใหม่ๆ ได้ หรือ สามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้ต่อเนื่อง โดยการวางกลยุทธ์ ทั้งด้านการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม และความต้องการของผู้บริโภคได้ ข้อนี้จริงๆ มันจะสอดรับกับข้อแรก “ที่ยอดขาย” ต้องเติบโต
- การวิจัย และพัฒนา บริษัทที่ท่านลงทุนนั้น มีการเน้น หรือ พัฒนาแผนกวิจัย และพัฒนาสินค้า และบริการของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนหรือไม่ เพราะนั่นคือ สิ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะ บริษัทจะมีการผลิตสินค้า หรือบริการ ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความชอบ และเชื่อมั่นในตัวสินค้าและบริการ ทำให้ยอดขายสามารถเติบโต และขยายออกไปได้
- มีทีมขาย และ ผู้แทนจำหน่าย ที่แข็งแกร่ง บริษัทจะขับเคลื่อนและอยู่รอดในสนามทางธุรกิจได้ บริษัทต้องสามารถขายสินค้า และบริการของตนเองออกไปได้ ถึงแม้ว่าสินค้าจะดีเลิศขนาดไหน หากแต่ทีมขายไม่เก่ง ไม่สามารถขายได้ บริษัทก็จอด และต้องพับเสื่อกลับบ้านก็มีมากมาย ดังนั้น บริษัทที่เราเข้าไปลงทุน ต้องสืบให้รู้แน่ชัดว่าทีมขาย และเครือข่ายการกระจายสินค้านั้นมั่นคงแค่ไหน เพราะงานขาย เป็นหน่วยงานที่สำคัญของทุกบริษัท ที่จะเป็นคนนำพาเอารายได้เข้าบริษัทให้อยู่ยอดได้
- กำไรก่อนภาษีและดอกเบี้ยจ่าย ต่อยอดขายสูง มีอัตราส่วนทางการเงินอยู่ตัวนึง ที่นักลงทุนชอบมองหา สิ่งนั้นก็คือกำไรต่อยอดขาย เพราะ บางบริษัท ยอดขายสูงมากเลย แต่พอหักค่าใช้จ่ายไปหมดแล้วเหลือกำไรแค่นิดเดียว อันนี้ก็จะส่งผลกระทบในแง่ลบกับบริษัท หากบริษัทสามารถมีอัตราส่วนตัวนี้ที่ดีจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
- รักษาและเพิ่ม อัตราส่วนในข้อ 5 จะเห็นว่าการเติบโต หรือรักษากำไรต่อยอดขายให้สม่ำเสมอ เป็นงานที่หนักหนาสำหรับทีมผู้บริหาร และทีมงานของบริษัทนั้นๆ เพื่อนำพาให้กำไรของบริษัทเติบโตไปต่อได้ การรักษาอัตราส่วนให้คงที่ หรือดีขึ้น จะทำให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่งขันในหลายๆ ด้าน นั่นจะทำให้หุ้นของบริษัทขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน
- พนักงานมีความภักดี หัวใจสำคัญของทุกบริษัท ก็คือ “คน” หรือ พนักงานของบริษัทนั่นเอง การที่พนักงานในบริษัท มีความจงรักภักดี หรือ มีมุมมองเชิงบวกกับบริษัท จะส่งผลดีในหลายๆ ด้าน และส่งผลให้บริษัทขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง หากพนักงานมีความเคลือบแคลง ในการดูแลเอาใจใส่พนักงานแล้วหละก็ มันจะทำให้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงานลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ในทางกลับกัน หากพนักงาน ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าบริษัทเห็นคุณค่าของตน จะส่งผลเชิงบวกอย่างมหาศาลกับบริษัท นั่นจะทำให้บรรทัดสุดท้าย คือ กำไร ออกมาดีอย่างน่าประหลาดใจ
- ทีมผู้บริหารแข็งแกร่ง สมัครสมานสามัคคี ทีมผู้บริหารจะเป็นเหมือนมันสมองของบริษัท เป็นผู้วางกลยุทธ์ และตัดสินใจสำคัญๆ ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปเหนือคู่แข่ง และ รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (สำหรับคนที่มีธรรมาภิบาล) หากทีมผู้บริหารไม่ได้ขัดแข้งขัดขากันเองแล้ว หากแต่ร่วมแรงร่วมใจกันวางแผนให้บริษัทมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย ตามพันธกิจของบริษัทที่วางเอาไว้ จะทำให้ผลประกอบการออกมาได้คะแนนเต็มสิบ อย่างแน่นอน หากในองค์กรใด มีแต่การเมืองภายใน ปัดความรับผิดชอบ ผลของงานจะออกมาไม่น่าประทับใจ ซึ่งส่งผลเต็มๆ กับผลประกอบการที่จะประกาศออกมาในแต่ละไตรมาส ส่งผลให้ราคาหุ้นเตี้ยลงๆ ได้เช่นกัน
- มีทีมผู้บริหารเพียงพอ มีมือหนึ่งก็ต้องมีมือสอง นั่นคือ ทีมผู้บริหารต้องมีสำรอง เผื่อผู้บริหารหลักล้มป่วย เป็นอะไรไปบริษัทนั้นจะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่สะดุด เราจะเห็นหลายๆ กรณีที่บางบริษัทมี One Man Show นั่นคือ ผู้บริหารหลักคนเดียว ลุย เดี่ยว ตัดสินใจเองทั้งหมด จริงอยู่ผลงานวันนี้อาจจะโดดเด่น แซงหน้าบริษัทอื่นๆ แต่หากผู้บริหารเกิดเป็นอะไรไปหรือ ไม่สามารถทำงานต่อได้ ต้องมีตัวตายตัวแทนเอาไว้ เพื่อสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าต่อได้ทันที ในบ้านเราก็เห็นจะเป็นการนำเอาลูก หรือ ญาติ ต่างๆ เข้ามาเพื่อศึกษาเรียนรู้งาน ในการสืบทอดกิจการต่อไป แต่ก็มีบางบริษัทเช่นเดียวกันที่จ้างคนนอกหรือผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาแทน ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท
- ระบบคำนวณต้นทุน และควบคุมบัญชี ต้องเจ๋ง ต้องบอกว่าต้นทุนของทุกสิ่งในบริษัททีมผู้บริหารจะต้องรู้ให้ชัดเจน และรู้ว่าอะไรคือต้นทุนหลัก จึงจะพุ่งความสนใจและสามารถลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงได้ เมื่อต้นทุนลดลง นั่นย่อมส่งผลให้กำไรของบริษัทสูงขึ้น คนที่มีความสุขที่สุดเห็นจะเป็นนักลงทุน ผู้เฝ้ารอการขึ้นของราคาหุ้น เมื่อใดก็ตามบริษัทขาดการวางระบบบัญชีค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอย่างรัดกุม มันก็เหมือนการขับเครื่องบินไม่มีเรดาร์ บินไปแบบคนตาบอด รอวันเครื่องบินตก หรือบินชนอะไรบางอย่างเข้า นั่นคือ บริษัทจะไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริง ทำให้การตั้งราคา หรือลดราคาต่างๆ เป็นไปอย่างคนตาบอด บางทีลดราคาสินค้าลงมา บริษัทขายสินค้าแบบขาดทุนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทนั้นก็จะขาดทุนอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์!
- ความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผมต้องบอกว่าจุดนี้หลายบริษัทอาจจะมีข้อได้เปรียบบางอย่าง เหนือคู่แข่งเช่น ได้สัมปทานจากรัฐอยู่เจ้าเดียว หรือน้อยราย หรือบางบริษัทมีสิทธิบัตร บางอย่างที่บริษัทอื่นต้องจ่ายเงินให้หากต้องการใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง ตรงนี้จะทำให้กำไรสุทธิออกมาค่อนข้างสูง บริษัทไหนที่เราเห็นกำไรสุทธิเยอะๆ มักจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันบางอย่าง ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง นั่นจะส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นได้ในระยะยาว
- เห็นภาพของกำไรระยะสั้น และระยะยาว นักลงทุนควรจะเห็นภาพของธุรกิจนั้นและรู้ว่าบริษัทสามารถจะทำเงินได้จากสินค้า หรือบริการตัวไหนได้มาก ในระยะสั้นๆ รวมถึงระยะยาวแล้วมีแผนในการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดได้หรือไม่ เพราะนั่นจะเป็นตัวขับเคลื่อนกำไรทั้งสั้นและยาว ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นได้ แบบฉุดไม่อยู่
- การเติบโตของบริษัทต้องมีการเพิ่มทุน หรือไม่? จะส่งผลกระทบกับผู้ถือหุ้นเดิมมากน้อยแค่ไหน? ในบางบริษัทผมมักจะเห็นบ่อยๆ ว่า “เอะอะ เอะอะ ก็เพิ่มทุน” เงินเพิ่มทุนเหล่านั้นบริษัทอ้างว่าจะนำเอาไปขยายกิจการ หรือเอาไปลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆ บางอย่าง ที่มีภาพสวยหรูว่าน่าจะทำกำไร แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัทเหล่านั้นมักจะมีผลประกอบการณ์ที่ขาดทุน นั่นคือ การเพิ่มเงินทุนจากผู้ถือหุ้นเข้าไปในบริษัท ไม่ได้ส่งผลดีกับผู้ถือหุ้นเดิมเลย อันนี้ก็ควรจะพิจารณาแล้วหลีกเลี่ยงการลงทุนกับเค้าซะ แต่หากเป็นโครงการที่เราดูแล้วโอเค และน่าจะทำได้จริง การเติบโตก็อาจจะเป็นได้ ตรงนั้นค่อยตัดสินใจลงทุนเพิ่ม
- ผู้บริหารให้แต่ข่าวดี แต่มีข่าวร้ายแล้วเงียบ ผมเคยเห็นผู้บริหารหลายบริษัทชอบแต่จะออกมาให้ข่าวดี อัพเดทโครงการต่างๆ อย่างหรู แต่พอมีข่าวเชิงลบ หรือข่าวร้ายเกี่ยวกับผลประกอบการ หรือสิ่งที่กระทบกับธุรกิจกับเงียบเป็นเป่าสาก ในจุดนี้นักลงทุนก็ควรจะต้องชั่งใจเหมือนกัน หากจะลงทุนในบริษัทเหล่านั้น เพราะ ในหลายๆ ครั้งข่าวร้ายจะเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ และราคาหุ้นมักจะรูดกราวน์ลง อย่างเซอร์ไพรซ์เช่นเดียวกัน นักลงทุนเหล่านั้นก็ต้องรับชะตากรรมกันไป เพราะไล่ซื้อหุ้นช่วงมีข่าวดี และถือขาดทุนตอนหุ้นดิ่งลงหนักในเวลาต่อมาเพราะเจอข่าวร้ายที่ผู้บริหารไม่ค่อยจะออกมาบอกกันสักเท่าไหร่
- ผู้บริหารมีธรรมาภิบาล นั่นคือ ผู้บริหารรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า รวมถึงผู้ถือหุ้น อย่างเป็นธรรม ไม่หมกเม็ด ไม่ผ่องถ่ายเงินออกนอกบริษัทไปเข้ากระเป๋าตัวเอง หรือแม้แต่ใช้สินทรัพย์ของบริษัทเพื่อประโยชน์ของตัวเองและหมู่คณะ ผู้บริหารหลายๆ แห่งเข้าใจว่าบริษัทเป็นของตนเอง แต่จริงๆ แล้วทุกคนที่มีหุ้น เป็นเจ้าของร่วม มีสิทธิมีเสียงเท่ากับตนเองถือหุ้นอยู่ ดังนั้น ผู้บริหารจะใช้สินทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ได้ หากเราเจอผู้บริหารที่ดี เข้าใจตรงนี้แล้ว นักลงทุนคงจะถือหุ้นกันอย่างสบายใจ
ทั้ง 15 ข้อ คือ หลักการคัดสรรหุ้นพื้นฐานคุณภาพ ที่จะช่วยตอบคำถามว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี” ท่านจะสามารถคัดกรองทุนจากเป็นพันๆ หุ้นเหลือเพียงแค่ไม่กี่หุ้นได้ หากต้องการศึกษาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อสถาบัน เพื่อขอคำปรึกษาและแนะนำ
หรือดูรายละเอียดที่ คอร์สสอนเล่นหุ้นตัวต่อตัว หรือโทร 082-492-7166
บทความเขียนโดย อ.จิรัฏฐ์ (อ.โตโร่)
กด Like & Share ให้เพื่อนๆ ได้ความรู้ แบ่งปัน แนวความคิดด้านการลงทุน
หลักสูตรลงทุนในหุ้นของทางสถาบัน
คอร์สอบรมหุ้นสำหรับผู้เริ่มต้น
คอร์สอบรม Technical Analysis เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแล้ว
คอร์สอบรม Value Investment (VI) เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแล้ว
One thought on “ซื้อหุ้นตัวไหนลงทุนดี?”
good article.