เขียนโดย อ.จิรัฏฐ์ หิรัญปภาพิศุทธิ์
รายงานประจำปี – เริ่มต้นกันตรงนี้ สำหรับการวิเคราะห์หุ้น
รายงานประจำปีจะว่าไปแล้วมันเป็นเอกสารที่ยากสำหรับการย่อยข้อมูลสำหรับนักลงทุน เนื่องมาจากความซับซ้อนของมันเอง และภาษาที่บางครั้งค่อนข้างจะเป็นทางการ และศัพท์เทคนิคในธุรกิจนั้น นอกเหนือจากนี้มาตรฐาน ตัวบทกฏหมาย ข้อบังคับของรัฐ มาตรฐานการบัญชี และสิ่งที่ควรปฏิบัติ ล้วนแล้วแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีการโกง หรือ การใช้กลทางบัญชี หรือ การแสดงงบออกมาให้ดูดีจนเกินความเป็นจริงมันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าไปในกฏระเบียบต่างๆ รวมถึงผู้ที่รับผิดชอบ และเกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นออดิต ผู้บริหาร หรือผู้สอบบัญชี จะต้องเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
มาตรฐานบัญชีด้วยระบบเดบิต และเครดิต
(Double entry book-keeping)
ประเทศอิตาลีน่าจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้คิดค้นและนำการบันทึกบัญชีแบบเดบิต เครดิต ที่ใช้กันปัจจุบันนี้มาใช้ Luca Pacioli ได้ตีพิมพ์หนังสือคู่มือชื่อว่า De Comutis et Scripturis ในปี 1494 ถ้านับกันมาก็ห้าร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งในคู่มือนี้พูดถึงการจัดทำบัญชีที่เป็นระบบ
ภายใต้ระบบนี้ทุกๆ การใช้จ่าย ทุกๆ รายได้ ทุกๆ กิจกรรมของบริษัท จะถูกบันทึกลงในบัญชีสองด้าน
- Credit เครดิต (ด้านขวา)
- Debit เดบิต (ด้านซ้าย)
ที่มันเป็นด้านขวา หรือ ด้านซ้ายมาจาก สมการบัญชีอยู่หนึ่งตัวคือ
สินทรัพย์ (Debit) = หนี้สิน + ส่วนทุน (Credit)
จากระบบบัญชีนี้มันจะสามารถทำให้ทุกบริษัทในตอนสิ้นปี สามารถออกงบที่สามารถแสดงสถานะทางการเงินที่แสดงถึงสินทรัพย์ของบริษัทและหนี้สินในงบดุล (Balance Sheet) และยังสามารถแสดงผลกำไร หรือขาดทุนใน “งบกำไรขาดทุน” (Income Statement)
ใครเป็นคนออกงบการเงิน?
ทุกธุรกิจและบริษัทจะต้องมีการจัดทำงบการเงินเพื่อแสดงรายการในการคำนวณจ่ายภาษีในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการกุศล, องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร, บริษัทที่ได้รับยกเว้นภาษี หรือ บริษัททั่วไป ทุกบริษัทจะต้องมีข้อมูลให้สามารถตรวจสอบได้ และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการบริหารจัดการ จะเห็นได้ว่างบการเงินที่ออกนอกจากนำไปส่งให้ภาครัฐแล้ว แต่มันยังมีประโยชน์ถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับบริษัท
ทุกบริษัทที่เป็นบริษัทมหาชน หรือ ที่เรามักจะเห็นคำว่า “Public Company Limited” หรือ “บริษัท…(มหาชน) จำกัด” จำเป็นจะต้องออกงบการเงินซึ่งแน่นอนต้องมีมาตรฐาน ส่วนบริษัทที่ไม่เป็นมหาชน ยังไงก็ต้องเตรียมงบและยื่นให้รัฐทุกปีอยู่ดี และข้อมูลนั้นจะสามารถตรวจสอบได้
หนี้สินจำกัด (Limited Liability)
บริษัทส่วนใหญ่ตามกฏหมายแล้วจะจำกัดหนี้สิน หรือมีส่วนรับผิดชอบหนี้สินเท่ากับเงินลงทุนที่ตนเองได้ลงไปเท่านั้น นักลงทุนให้เงินลงทุนกับบริษัทก็โดยการซื้อหุ้นเท่ากับจำนวนเงินที่ตนเองต้องการลงทุน นักลงทุนเหล่านั้นจะไม่สามารถถูกฟ้องร้องค่าเสียหายที่มากกว่าเงินลงทุนนั้น หากบริษัทถูกฟ้องร้องมากกว่านั้น “บริษัท” ถือว่าเป็น “นิติบุคคล” มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมด มันจะแยกขาดจาก “นักลงทุน” ที่ถือหุ้น
บริษัทนอกตลาด และบริษัทในตลาดหุ้น
ความแตกต่างอยู่อยู่ที่หุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นสามารถซื้อขายได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทนอกตลาดนักลงทุนต้องไปติดต่อ หรือเจรจา ขอซื้อขายหุ้นเองไม่ว่าจะจากเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ แน่นอนบริษัทนอกตลาดจะไม่ได้มีกฏต่างๆ มากมายเหมือนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในการออกงบ และนำส่งงบการเงิน
ความเป็นเจ้าของ และผู้บริหาร
ผู้ถือหุ้นของบริษัทนอกตลาดหุ้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้บริหารบริษัท รวมถึงเครือญาติ จะเป็นทีมผู้บริหารและจัดการบริษัทโดยตรง แต่บริษัทจดทะเบียนผู้ถือหุ้นอาจจะไม่ได้เป็นผู้บริหารก็ได้ อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารก็ยังมักจะเป็นกลุ่มเดียวกัน สำหรับต่างประเทศแล้วอาจจะเป็นคนละกลุ่มไปเลยก็ได้ หากผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร สามารถแยกขาดจากกันได้แล้ว การรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส หรือ “มีธรรมาภิบาล” โดยการรายงานนี้จะถูกจัดขึ้นในการรายงานประจำปีของบริษัท หรือ AGM: Annual General Meeting ซึ่งการประชุมนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสามารถพรีเซ็นต์งบการเงิน ผลการดำเนินงานประจำปี ให้กับนักลงทุนทราบ
งบการเงินรวม
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะมีบริษัทย่อยมากมาย จะเราเรียกความสัมพันธ์เหล่านั้นว่า “บริษัทแม่” กับ “บริษัทลูก” ซึ่งบริษัทแม่นั้นจะมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารจัดการ และสั่งการ ดังนั้นงบการเงินจึงมีกฏระเบียบให้บริษัทแม่ นำเอางบการเงินของบริษัทลูกเข้ามารวมด้วย ตอนออกงบการเงินเพื่อแสดงถึงการดำเนินงานของบริษัทในเครือได้ทั้งหมด
ในงบการเงินจริงๆ แล้วจะมีการเปิดเผยข้อมูลทั้ง “งบการเงินรวม” และ “งบการเงินเฉพาะบริษัท” เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วนตอนนำเอาไปใช้วิเคราะห์
ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
เมื่อบริษัทแม่มีบริษัทย่อย และบริษัทแม่ไม่ได้ถือหุ้น 100% ในหุ้นของบริษัทย่อย ก็ย่อมมี “ผู้ถือหุ้นอื่น” หรือ “ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย” ในบางครั้งบริษัทแม่อาจจะประสบปัญหาเรื่องอำนาจในการบริษัทบริษัทย่อยในบางครั้ง เนื่องจากว่าผู้ถือหุ้นส่วนน้อยนั้นอาจจะเห็นต่างในบางนโยบาย
การออกงบการเงินรวมในทางปฏิบัติต้องตัดรายได้ และกำไรที่บริษัทแม่ทำกับบริษัทลูกออกเพื่อแสดงกำไรที่มีการค้าขายกับลูกค้าภายใน แต่อย่างไรก็ตามงบต้องแสดงกำไรทุกกิจกรรมสำหรับผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ฟังดูอาจจะค่อนข้างสับสน เอาเป็นว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักบัญชีในการจัดการตัวเลขเหล่านั้น นักลงทุนเพียงแต่เข้าใจว่าในงบการเงินนั้นอาจจะมีส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยอยู่ด้วย ให้เข้าใจว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยนักลงทุนอื่นที่บริษัทไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการผู้ถือหุ้นเหล่านั้น
รายงานรายละเอียดของบริษัทย่อย
ภายในรายงานประจำปี ต้องมีกำไรอธิบายถึงรายละเอียดของบริษัทย่อยว่าเป็นธุรกิจที่ทำอะไรบ้าง ตำแหน่งที่ตั้ง จำนวนหุ้นที่บริษัทใหญ่ถืออยู่ ถ้าบริษัทย่อยถูกขายออกไป หรือตัดออกไปจากบริษัทแม่ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ทราบ
เป้าหมายของรายงานประจำปี
รายงานประจำปีถูกออกแบบให้นำเสนอข้อมูลที่นักลงทุนต้องการทราบ และนักลงทุนใหม่ๆ ที่ต้องการลงทุนในบริษัท ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นรายละเอียดการดำเนินงานของธุรกิจของบริษัท ในการที่จะนำเสนอข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มันต้องเป็นเอกสารที่ต้องอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที และสามารถนำไปเปรียบเทียบข้อมูลกับบริษัทอื่นๆ ได้ มีความน่าเชื่อถือ และข้อมูลมีประโยชน์ งบการเงินถูกนำมาแสดงเพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนในบริษัท งบการเงินไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลในอดีตแต่มันมีประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการคาดการณ์ธุรกิจและรอบของธุรกิจ ความเสี่ยง และกระแสเงินสดรับของกิจการ
รายงานประจำปีมีความสำคัญไม่เฉพาะแสดงรายงานงบการเงิน ตารางผลประกอบการ คำอธิบายผลการดำเนินงานของบริษัทจากผู้บริหารเท่านั้น แต่มันรวมถึงรายละเอียดในส่วนอื่นๆ ที่บริษัทควรจะต้องเปิดเผย มันเป็นเอกสารที่เป็นทางการที่ออกโดยผู้บริหารบริษัทให้นักลงทุนทราบถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจในรอบปีและตัวเลขทางการเงินในระหว่างปี จนถึงสิ้นปี มันยังมีความสำคัญในการเป็นตัวแทนในการนำเสนอข้อมูลบริษัทให้ทุกคนทราบ
ในบริษัทหนึ่งอาจจะมีผู้ถือหุ้นเป็นพันคน แต่อาจจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีของบริษัท ที่ซึ่งผู้บริหารจะนำเอาตัวเลขต่างๆ มีพรีเซ็นต์อย่างเป็นทางการ ทุกคนจะได้รับรายงานประจำปีในการประชุมนั้น การออกรายงานประจำปีจึงมีความสำคัญและมีค่าใช้จ่าย โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายในการออกก็จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดและการออกแบบ รวมถึงค่าน่าสนใจของเอกสาร โดยเฉลี่ยอาจจะอยู่ระหว่างหลักแสน ถึงหนึ่งล้านบาท ต่อปีสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย
ใครใช้รายงานประจำปีบ้าง?
ผู้ถือหุ้นและผู้ที่สนใจร่วมลงทุน
ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเพียงแค่หลักร้อยหุ้น ไปจนถึงนักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้นจำนวนมาก การที่บริษัทจะออกรายงานประจำปีโดยนึกว่านักลงทุนทั้งสองกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจในบริษัทเท่าเทียมกันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาก การที่คนเรามีพื้นฐานที่แตกต่างกันจะเข้าใจในสิ่งเดียวกันนั้นเหมือนจับปูใส่ในกระด้ง เช่น นักวิเคราะห์ และนักวางแผนทางการเงิน จะมีมุมมองที่แตกต่างกันและมักจะถกเถียงกันได้ตลอด ดังนั้น การที่บริษัทจะใส่ข้อมูลในรายงานประจำปีเพื่อให้ตอบคำถามกับผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละคนได้ครบถ้วนนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะลำบากทีเดียว
ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนเป็นเจ้าของบริษัท และใช้รายงานประจำปีเพื่อดูว่าบริษัทใช้เงินลงทุนของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง ทีมบริหารจัดการเงินของนักลงทุนอย่างไรในปีที่ผ่านมา การลงทุนของบริษัทโดยปกติแล้วมันก็คือการนำเงินไปสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อหวังผลกำไรและกระแสเงินสดในอนาคต รายงานประจำปีให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่นักลงทุนมักจะมองหาตัวเลขในการจ่ายปันผล และมองอนาคตของราคาหุ้นในอนาคตมากกว่า ดังนั้น ผมจะค่อยๆ อธิบายถึงอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทน หรือ ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น และ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ที่จะมีผลกับการจ่ายปันผลในอนาคตของบริษัทในบทความต่อๆ ไป
นักวิเคราะห์หุ้นผู้ซึ่งให้คำแนะนำนักลงทุน นักวิเคราะห์หรือกูรูที่มีรายได้จากการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนก็จะใช้จุดแข็งด้านการวิเคราะห์ของตนเอง และการคาดการณ์ที่แม่นยำถึงผลประกอบการณ์ของบริษัท รวมถึงระบุความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
ผู้ถือหุ้นและอำนาจการบริหารจัดการ
ผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยนั่นหมายถึง นักลงทุนที่ถือหุ้นจำนวนไม่มากนักและไม่ได้มีส่วนในการบริหารจัดการบริษัท ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจ และมีอิทธิพลกับการบริหารงานของผู้บริหาร มักจะเป็นนักลงทุนสถาบันการเงิน เช่นธนาคาร กองทุน กบข. นิติบุคคล หรือโบรคเกอร์ต่างๆ ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้รวมตัวกันก็จะเป็นจำนวนหุ้นที่มากพอและผู้บริหารก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ และแน่นอนต้องทำให้เห็นด้วย เนื่องด้วยนักลงทุนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญ และชำนาญในการวิเคราะห์หลักทรัพย์เป็นอย่างดี พวกเขารู้ดีว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับบริษัทมากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป อย่างไรก็ตามผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อท่านได้ติดตามอ่านบทความของผมตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ท่านจะมีความรู้ความสามารถเทียบเท่า หรืออย่างน้อยมีความเข้าใจความเป็นไปของบริษัทที่ท่านได้ถือหุ้นอยู่พอๆ กับคนที่เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ทำอาชีพนี้หาเลี้ยงชีพ
เจ้าหนี้ของบริษัท
เจ้าหนี้ คือ ผู้ที่เป็นแหล่งเงินกู้ หรือผู้ให้เงินกู้กับบริษัททั้งระยะสั้น และระยะยาว เจ้าหนี้เหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะธนาคารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถาบันการเงินอื่นๆ หรือนักลงทุนรายใหญ่แต่สามารถให้กู้ยืมเงินกับบริษัทได้ หรือสามารถให้สินเชื่อในการซื้อขายสินค้ากับบริษัทได้ เจ้าหนี้เหล่านี้มีความต้องการรู้ว่าบริษัทที่เขาให้กู้นั้นมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่ จ่ายตรงเวลามั้ย และสามารถจ่ายเงินต้นคืนได้ทั้งหมดเมื่อครบสัญญาเงินกู้ ดังนั้น พวกเขาเหล่านั้นก็จะสนใจอัตราส่วนทางการเงินบางอย่างที่จะตรวจสอบกำไรของบริษัท เงินสด สภาพคล่องต่างๆ ซึ่งผมจะอธิบายในส่วนถัดไป
ผู้บริหาร
ผู้บริหารเป็นผู้ชี้ชะตา หรือ นำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จในอนาคต หน้าที่หลักของผู้บริหารคือวางแผน และตัดสินใจที่สำคัญต่างๆ ของบริษัท เงินทุนถูกบริหารจัดการและเมื่อดำเนินงานจริงก็จะนำมาเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ได้เตรียมการเอาไว้ พอทำจริงแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ในการดำเนินงานของบริษัท ผู้ที่อยู่ในระดับหัวหน้างานหรือเมเนเจอร์ จำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด ดังนั้น รายงานประจำปีไม่มีโยชน์สำหรับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม คนระดับหัวหน้างานอาจจะสนใจตรงนี้หากการประเมินผลงานของเขาขึ้นอยู่กับกำไรของบริษัท โบนัสที่ผูกกับกำไรของบริษัทเหล่านั้นอาจจะขัดผลประโยชน์กับนักลงทุนหรือผู้บริหารระดับสูงได้ในบางครั้ง ระยะเวลาและการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบต่างๆ ในบริษัทจะเป็นตัวปิดช่องโหว่ตรงนี้ไปเองในท้ายที่สุด
พนักงาน และสหภาพแรงงาน
พนักงานเองอาจจะใช้รายงานประจำปีในการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท และดูว่านายจ้างจะสามารถให้โอกาสทางด้านหน้าที่การงานที่ดีได้ในอนาคต รวมถึงพิจารณารายได้ค่าจ้างต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่อีกด้วย
พนักงานส่วนใหญ่ถ้าไม่เปิดไปหน้าที่อธิบายถึงรายละเอียดการจ่ายโบนัส หรือเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง ก็มักจะเปิดไปที่หน้าที่อธิบายถึงส่วนงานที่ตนเองทำอยู่ หรือที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วพนักงานมักจะมีปัญหาในการอ่านรายงานประจำปีและบางทีไม่เคยสนใจอ่านด้วยซ้ำ ดังนั้น บริษัทส่วนใหญ่ก็จะมีรายงานแยกสำหรับพนักงงานอยู่แล้วเพื่อสรุปถึงผลการดำเนินงาน และนโยบายในอนาคต
หน่วยงานของรัฐ และกรมสรรพากร
บางประเทศรัฐใช้รายงานประจำปีในการเก็บภาษีจากบริษัท เยอรมันดีเป็นต้น เป็นประเทศที่ใช้ตัวเลขจากงบที่เปิดเผยต่อสาธารณะในการเก็บเงินภาษีเข้ารัฐ ดังนั้นบริษัทก็มักจะแสดงกำไรให้ต่ำๆ หนี้เยอะกว่าปกติ หากเทียบกับบริษัทในประเทศอื่น ของไทยเราเองบริษัทก็จะมีงบการเงินที่แยกจากงบกำไรขาดทุนที่นักลงทุนนำมาใช้วิเคราะห์ อันนั้นก็จะเป็นงบสำหรับส่งสรรพากรโดยเฉพาะซึ่งภาษีที่จ่ายอาจจะน้อยกว่าที่เราคิดเองจากงบที่เปิดเผยนั่นเอง
คนอื่นๆ
คนอื่นอาจจะอ่านรายงานประจำปีของบริษัทเพื่อดูว่าบริษัทนั้นเป็นอย่างไรบ้าง น่าทำธุรกิจด้วยหรือไม่ หรือควรจะซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทหรือไม่ ซัพพลายเออร์สามารถนำไปอ่านดูแล้วตัดสินใจว่าจะร่วมทำโปรเจคด้วยหรือไม่
หลักบัญชีเบื้องต้น
ก่อนที่ผมจะนำทุกท่านเข้าสู่การอ่านงบการเงิน ผมอยากจะเริ่มปูพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจหลักการที่สำคัญเสียก่อน บัญชีถูกจัดทำขึ้นโดยอิงมาตรฐานบัญชี กฏระเบียบ วิธีปฏิบัติ และสมมุติฐาน หลายประการ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ถูกปรับปรุงและมีการพัฒนามาทุกปี มันถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการบัญชีและเขาเหล่านั้นได้สร้างหลักการ หรือมาตรฐาน เพื่อออกงบการเงิน และหลักการเหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้โดยบริษัทจดทะเบียนทั่วไป
คนที่จบบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชี ได้ถูกฝึกให้เป็นคนที่
- มีความระมัดระวัง
- รอบคอบ
- อนุรักษ์นิยม
- คงเส้นคงวา
- ยึดความถูกต้อง
- มีสติตลอดเวลา
แน่นอนหลักการต่างๆ ข้างต้นเป็นสิ่งที่จะถูกนำมาพิจารณา และระลึกเสมอในการออกงบการเงิน และรายงานประจำปีของบริษัท
บริษัทเปรียบเสมือนบุคคลหนึ่ง
บริษัทที่ถูกจดจัดตั้ง และจดทะเบียนตามกฏหมายแล้วเป็น “นิติบุคคล” หรือพูดง่ายๆ คือเป็นอีกบุคคลหนึ่งแยกออกจากผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหาร ดังนั้น สินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทก็จะเป็นของบริษัท และหากบริษัทมีหนี้สินก็ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้น หากบริษัทต้องล้มละลายและต้องขายสินทรัพย์ออกไปเงินที่ได้รับมาจะถูกนำไปจ่ายหนี้ก่อน ที่จะถึงมือผู้ถือหุ้น
สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ตีค่าเป็นเงินลำบาก
ถ้ามีสิ่งใดที่บริษัทไม่อาจะตีมูลค่าออกมาเป็นเงินได้ สิ่งนั้นจะไม่สามารถลงไปในบัญชีได้ เป็นหลักการขั้นต้นที่นักบัญชีรู้ คือ “ถ้าอะไรที่คุณประเมินค่าออกมาเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ ไม่ต้องลงบัญชี” นี่คือหลักการง่ายๆ แต่นักบัญชีจะปวดหัวมากเวลาต้องลงบัญชีในสินทรัพย์ที่ตีค่าออกมาเป็นเงินลำบาก เช่น ผู้บริหารเก่งๆ หลายคน นักบัญชีจะตีค่าออกมาเป็นเงินเท่าไหร่ ? จะใช้เกณฑ์อะไรในการประเมินมูลค่า ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะไม่ถูกบันทึกลงไปในงบแสดงสถานะของบริษัท
อย่างไรก็ตามนักบัญชีสามารถใส่ “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” ลงไปในบัญชีได้หากมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการตีมูลค่าและเปิดเผยในงบการเงิน ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์หรือตราของสินค้า, ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
เงินเฟ้อมีผลกับการทำบัญชี
ปัญหาใหญ่ที่บัญชีปวดหัวคือ เงินเฟ้อ เพราะตัวเลขที่ออกในงบดุลจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยหากเงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูง เช่น ต้นปีบริษัทซื้อสินทรัพย์เข้ามาและแสดงมูลค่า 500 ล้านบาท แต่เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูงและสิ้นปีของนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ตัวเลขที่แสดงนั้นจะเป็นตัวเลขที่ใช้การไม่ได้ นักลงทุนอาจจะต้องมีการปรับปรุงตัวเลขให้สะท้อนเงินเฟ้อด้วย อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อในประเทศไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ดังนั้น งบที่ออกมาก็ค่อนข้างจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อมากสามารถนำไปใช้ได้เลย
ต้นทุนของสินทรัพย์
ส่วนใหญ่แล้วมูลค่าของสินทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีจะแสดงต้นทุนที่ได้ซื้อเข้ามา หรือมูลค่าที่ซื้อเข้ามาเป็นครั้งแรก หักออกด้วยการเสื่อมราคาในแต่ละปี ที่นักบัญชีใช้ต้นทุนในการซื้อแสดงในงบการเงินก็เพราะว่ามันง่ายที่จะเอาใบเสร็จรับเงิน มาเป็นหลักฐานหากต้องการตรวจสอบ หรือซื้อสินค้าเข้ามาทดแทนของเดิม อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงของเหล่านั้นมันจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือ ลดลงตามการเวลาขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ให้ท่านเข้าใจว่าตัวเลขในงบนั้นคือ มูลค่าต้นทุนเดิม หักด้วยค่าเสื่อมราคา บวกด้วยมูลค่าซาก (คือมูลค่าของสิ่งที่เหลือหากขายทอดตลาดทิ้งไป)
บริษัทต้องรันต่อไปเรื่อยๆ
โดยหลักของบัญชีแล้วมีสมมุติฐานอยู่ว่าบริษัทจะต้องทำธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ ได้ในอนาคต นั่นหมายถึงว่าบัญชีที่ออกมาในแต่ละงวด จะสามารถนำไปเปรียบเทียบย้อนหลังได้ สินทรัพย์ที่ท่านเห็นว่ามีมูลค่า คือ มูลค่าในวันนี้ และบริษัทจะรันต่อไปได้เรื่อยๆ ในอนาคต
แล้วถ้าบริษัทกำลังจะเจ๊ง?
หากมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทใกล้จะล้มละลายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มันก็จะขัดกับสมมุติฐานข้อข้างบนว่าบริษัทต้องรันต่อไปได้เรื่อยๆ ผู้สอบบัญชีจะต้องให้ความเห็นต่องบการเงิน และรายงานประจำปี เพื่อแสดงให้นักลงทุนทราบว่าบริษัทนั้นมีความเสี่ยงที่จะรันต่อได้หรือไม่ หรือจะอยู่รอดได้ในปีนี้หรือไม่ เป็นต้น
ธรรมาภิบาล
นักลงทุนอาจจะได้ยินข่าวการโกง หรือฉ้อฉลในบริษัทจดทะเบียน ที่เป็นข่าวทั้งในประเทศก็ดี หรือ ต่างประเทศก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันปัญหานี้ให้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศได้มีการสนับสนุนให้บริษัทมีระบบควบคุม และตรวจสอบการบริหารงานภายในของผู้บริหารระดับสูง เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
หลักใหญ่ใจความที่ผู้บริหารระดับสูงควรปฏิบัติมีดังนี้
- รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทตามความเป็นจริง
- มีกรรมการตรวจสอบที่แยกจากผู้บริหาร และเป็นผู้ดูแลการจ่ายผลตอบแทนให้ผู้บริหารแทนผู้ถือหุ้น
- มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกงบ และดูแลความถูกต้องของงบการเงิน
- ผู้ตรวจสอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่แยกอิสระจากฝ่ายบริหาร
- มีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจ
ผู้บริหารควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายธุรกิจ และการดำเนินการทำตามนโยบายนั้น เพื่อที่เพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากนี้ผู้บริหารต้องแน่ใจว่าการดำเนินธุรกิจเป็นไปกฏระเบียบข้อกฏหมายต่างๆ ของรัฐ และงบการเงินที่ออกมาสะท้อนการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง
อนุรักษ์นิยมในการตีมูลค่า
รายงานประจำปีถูกนำไปใช้งานโดยผู้ใช้หลากหลาย แต่ละคนมีความสนใจในแต่ละด้าน นอกเหนือจากการอ่านเพื่อตัดสินใจซื้อหุ้นแล้ว อาจถูกนำไปใช้ประเมินเครดิตในการให้กู้ ตัดสินใจเลือกใช้สินค้าและบริการ เลือกเข้าทำงานด้วย เป็นต้น เนื่องจากว่ามันมีความสำคัญดังนั้น นักบัญชีต้องแน่ใจว่าตัวเลขทุกตัวที่ใส่ไปในรายงานนั้นเป็นเลขที่ถูกต้อง มันจะดีกว่าถ้าตัวเลขนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะว่าถ้านักลงทุนใช้ตัวเลขนั้นในการตัดสินใจซื้อหุ้นแล้วภายหลังปรากฏว่าตัวเลขนั้นสูงเกินจริงไปอาจจะหมดความน่าเชื่อถือในงบนั้นไปได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ต่ำกว่าจะดีกว่า เพราะ อนุรักษ์นิยมว่านั่นเอง
ในการป้องกันการแสดงตัวเลขที่สูงเกินจริง มันมีกฏง่ายๆ ในการใส่ตัวเลขกำไรในงบกำไรขาดทุน หรือในงบดุลก็แล้วแต่ นักบัญชีจะยึดตามกฏ ดังนี้
- ถ้าได้ตัวเลขมาสองตัว ให้เอาตัวเลขที่ต่ำกว่า
- ถ้าไม่ชัวร์ว่าตัวเลขนี้ใส่ได้หรือไม่ ให้ตัดทิ้งไป
กฏง่ายๆ สองข้อข้างต้นมีผลค่อนข้างมากในการจัดเตรียมและออกงบการเงิน ยกตัวอย่างเช่น
- มูลค่าสินทรัพย์คงเหลือในงบดุลจะถูกเลือกแสดงมูลค่าทุนที่ต่ำกว่าราคาตลาด
- ตัดหนี้สูญทิ้งไปจากงบดุล และตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ว่าจะเก็บเงินก้อนนั้นได้ในอนาคตก็ตาม
- ถ้าสงสัยว่ารายได้นั้นจะเก็บเงินไม่ได้ ก็ยังไม่ต้องรับรู้เป็นรายได้จนกว่าจะเก็บเงินสดได้
- รับรู้กำไรขาดทุนในปีนี้เท่านั้น ไม่รับรู้รายได้หรือกำไรที่คาดว่าจะได้ในอนาคต
- ถ้ามีหนี้สินที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ใส่เข้าไปในงบดุลทันที
- ถ้ามีความสูญเสียต่างๆ ที่กำลังจะเกิดในบริษัท ให้ใส่เข้าไปในงบกำไรขาดทุนทันที ไม่ต้องรอจนกว่ามันจะเกิดจริง
การรับรู้รายได้ในงบกำไรขาดทุน
จนกว่าการซื้อขายจะเกิดขึ้นจริง บริษัทจะไม่สามารถรับรู้รายได้ หรือกำไรขาดทุนในปีนั้นได้ ลูกค้ารายใหญ่สัญญาว่าจะสั่งซื้อสินค้าล๊อตใหญ่จากบริษัทเดือนหน้า แน่นอนมันเป็นข่าวดี มันจะถูกบันทึกเอาไว้และผู้บริหารรับรู้ถึงการสั่งซื้อครั้งนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามนักบัญชีจะบันทึกกำไรลงไปไม่ได้จนกว่าจะเกิดการซื้อขายจริงตามกฏหมาย นั่นคื ของต้องถูกส่งไปยังลูกค้าและลูกค้ารับสินค้าเอาไว้เรียบร้อย นั่นคือ เกิดการซื้อขายจริง และสามารถรับรู้รายได้ในงวดนี้ได้
การขายสินทรัพย์ก็เหมือนกัน หากบริษัทตัดสินใจขายสินทรัพย์บางอย่างออกไป เช่นที่ดิน กำไรหรือขาดทุนจากการขายนั้นจะถูกนำเข้ามาแสดงในงบกำไรขาดทุนได้ก็ต่อเมื่อได้มีการเซ็นต์โอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้วเท่านั้น
เกณฑ์การรับรู้รายได้
ในงบกำไรขาดทุนนั้นมันจะทำการจับคู่รายได้กับค่าใช้จ่ายออกมาเป็นกำไรขาดทุน เมื่อเกิดการซื้อขายขึ้นมันจะถูกนำมาคิดคำนวณในงบกำไรขาดทุน เกิดการซื้อขายตรงนี้คือมีใบแจ้งหนี้ หรือ Invoice เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทส่งมอบสินค้า หรือบริการให้ลูกค้าแล้ว ไม่จำเป็นว่าลูกค้าจะจ่ายเงินสดหรือยัง นั่นจะถูกรับรู้เป็นรายได้ทันที ดังนั้นรอบการรับรู้รายได้ กับรอบที่บริษัทได้รับเงินสดจากลูกค้าอาจจะแตกต่างกันไป แต่อย่างไรซะในที่สุดลูกค้าจะจ่ายเงินสดเข้ามา หากมองในเชิงการรับรู้รายได้อย่างเดียว รายได้ของบริษัทเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบของ และเกิดใบเสร็จรับเงินขึ้นนั่นเอง
มีความสอดคล้องสม่ำเสมอในการออกงบ
งบการเงินที่ดีควรจะสามารถนำไปเปรียบเทียบย้อนหลังได้ ปัญหาใหญ่ของนักบัญชีคือ การออกงบไม่ได้มีแค่วิธีการเดียว กฏต่างๆ สามารถดิ้นได้เพราะให้เหมาะกับกิจกรรมทางการเงินของบริษัท นี่คือ สิ่งที่นักบัญชีปวดหัว เพราะวิธีการเดียวกันอาจจะใช้ไม่ได้กับในบางกรณี
บริษัทสามารถรายงานกำไรได้เยอะๆ ในปีนั้นด้วยการเปลี่ยนนโยบายการทำบัญชี ยกตัวอย่างเช่น ปรับปรุงการตีมูลค่าสินทรัพย์คงเหลือ หรือ ปรับการคิดค่าเสื่อมราคา ดังนั้น หากบริษัทเปลี่ยนนโยบายการทำบัญชีบ่อยๆ งบการเงินมันคงจะเทียบกันไม่ได้เพราะหลักการทำไม่เหมือนกัน
แต่แน่นอนบริษัทสามารถเปลี่ยนนโยบายบัญชีได้ในบางปี แต่ต้องอธิบายในหมายเหตุประกอบงบการเงินให้นักลงทุนทราบ รวมถึงปรับปรุงงบการเงินงวดที่แล้วให้ใช้นโยบายใหม่ เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องปรับปรุงย้อนหลังงบการเงินเก่าๆ เอง หากต้องการเทียบมากกว่าสองปีขึ้นไปซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว
ข้อมูลสำคัญต้องเปิดเผย
ข้อมูลสำคัญต่างๆ นอกเหนือจาก รายงานประจำปี และงบการเงิน จะต้องถูกเปิดเผยให้นักลงทุนทราบ เพราะมันมีความสำคัญในการตัดสินใจ
มันก็เป็นไปได้ยากที่จะบอกว่าข้อมูลไหน สำคัญหรือไม่สำคัญ และเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีกหากจะใส่ทุกอย่างเข้าไปในรายงานประจำปี ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าสิ่งไหนมีความสำคัญ และหากเห็นว่ามีต้องเปิดเผยข้อมูล
หลักการง่ายๆ อาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายได้หรือค่าใช้จ่ายของบริษัทหากมากกว่า 5-10% ก็ควรจะต้องถูกเปิดเผยข้อมูลออกมาเพราะมีความสำคัญเป็นต้น
รายงานประจำปี และงบการเงิน ต้องมีความน่าเชื่อถือและเข้าใจง่าย
ในทางปฏิบัติแล้วงบการเงินต้องมีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ต้องถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ไม่มีความผิดพลาด และปราศจากความลำเอียง มีความสมบูรณ์ และสะท้อนถึงผลประกอบการปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่องบการเงินที่ออกมาสู่สาธารณะว่าต้องเป็นงบที่เข้าใจง่าย อย่างไรก็ตาม มันไม่มีเหตุผลเลยหากจะบอกว่างบต้องอ่านแล้วเข้าใจได้โดยทุกคน คนที่ใช้งบการเงินจะต้องรู้เบสิค หรือรู้หลักการขั้นต้นในการอ่านมาบ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของหลักสูตรที่ทาง TORO STOCK ได้พัฒนาเพื่อให้นักลงทุนอ่านได้ใช้เป็น
เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ
งบการเงินต้องสะท้อนเนื้อหาสาระทางเศรษฐกิจของบริษัทมากกว่ารูปแบบ “มันไม่ใช่สิ่งที่ผมพูด แต่สิ่งที่ผมหมายถึง” ไม่ว่าการทำธุรกิจของบริษัทจะเป็นอย่างไร งบการเงินต้องสะท้อนภาพที่แท้จริงทางธุรกิจว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างมากกว่า จึงเป็นที่มาของคำว่า “เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ”
มาตรฐานการบัญชี
ในสมัยแรกๆ ที่มีการนำเอาบัญชีมาใช้นักบัญชีก็ทำตามหลักการง่ายๆ แต่มันเริ่มมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเนื่องมาจากขนาดของบริษัท ขนาดธุรกิจมีการเติบโตขึ้น ธุรกิจมีการเชื่อมโยงกันไปทั่วโลก ทำให้จากเรื่องง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้น มาตรฐานการบัญชีจึงจำเป็นและถูกนำไปใช้
ในอังกฤษมาตรฐาน FRC: Financial Reporting Council ถูกสร้างขึ้นในปี 1990 ด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับนักบัญชีในการออกงบการเงิน มันมีสองมาตรฐาน ASB (Accounting Standard Board) ซึ่งถูกครอบโดย Statement of Standard Account Practice (SSAP) ชื่อมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ให้นักลงทุนเข้าใจว่าเป็นพัฒนาการของมาตรฐานในประเทศต่างๆ แล้วกันนะครับ เพราะจะเจออีกหลายชื่อ ไม่ต้องจำก็ได้ครับ
The Accounting Standard Board (ASB)
บริษัทจดทะเบียนต้องหน้าที่ออกงบการเงิน และรายงานประจำปี ให้ได้มาตรฐานการบัญชีของประเทศนั้นๆ เพราะปัจจุบันนี้งบที่ออกในแต่ละประเทศก็จะมีมาตรฐานแตกต่างกันไป เช่น บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ลอนดอน ก็จะแตกต่างจากบริษัทในนิวยอร์ก มิลาน หรือ ปารีส หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีมาตรฐานที่เป็นสากล และถูกนำไปใช้กันทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างนี้
ASB จะเป็นมาตรฐานของอังกฤษ ส่วนในฝั่งของอเมริกาก็จะมีอีกมาตรฐานนึงชื่อ FASB : Financial Accounting Standards Board ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1973 เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ดังนี้
- หลักการทำบัญชี
- กฏที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในการจัดทำบัญชี
- ลดความซับซ้อน และยุ่งยากในการออกงบการเงิน
- ออกกฏใหม่ๆ ถ้าจำเป็น
- ศึกษาและลดขั้นตอน หรือกฏต่างๆ ในการออกงบปัจจุบัน
บริษัทต่างๆ ต้องนำเอามาตรฐานบัญชีมาใช้
ในการออกงบการเงินบริษัทควรจะเปิดเผยว่าได้นำเอามาตรฐานบัญชีใดมาใช้ หากไม่นำมาใช้ต้องแสดงให้นักลงทุนทราบว่าเพราะเหตุใด และผู้ตรวจสอบบัญชีจะต้องให้ความเห็นต่องบการเงินนั้นด้วย ในประเทศไทยเองทุกบริษัทต้องใช้มาตรฐานบัญชีในการออกงบการเงิน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยื่นให้ผู้สอบบัญชีเซ็นต์ผ่านได้
GAAP : General Accepted Accounting Principles
ทุกประเทศจะมีหลักบัญชีที่ทุกคนยอมรับ หลักเหล่านี้จะถูกกำหนดด้วยข้อกฏหมาย ระเบียบต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ มาตรฐานบัญชี แนวทางปฏิบัติ และหลักการต่างๆ ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง GAAP ก็จะออกมาแก้ไขและประกาศให้ทราบซึ่งเป็นหน่วยงานในสหรัฐ และ GAAP มีอิทธิพลอย่างมากในการเป็นมาตรฐานบัญชีของไทย และ FASB ก็เช่นกัน
ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditors)
ทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจ้างผู้สอบบัญชีภายนอกให้เข้ามาตรวจสอบบัญชีของบริษัท ผู้สอบบัญชีนั้นเป็นผู้ที่เข้ามาตรวจสอบรายการทางบัญชีต่างและข้อมูลต่างๆ ของบริษัท เพื่อจะได้รายงานว่างบการเงินนั้นแสดงข้อเท็จจริงทางธุรกิจขนาดไหน ผู้สอบบัญชีมีมาเป็นร้อยปีแล้วและจะเป็นผู้ที่ให้ความเห็นต่องบการเงินของบริษัท
ผู้สอบบัญชีจะต้องเป็นอิสระจากผู้บริหารของบริษัท พวกเขาถูกจ้างโดยผู้ถือหุ้นไม่ใช่ผู้บริหารจ้าง และเขาจะรายงานตรงต่อผู้ถือหุ้น และจะเข้าประชุมการรายงานประจำปีของบริษัทด้วย
มีการโกงได้หรือไม่หากมีผู้สอบบัญชีแล้ว?
ในบางกรณีผู้สอบบัญชีอาจจะสมรู้ร่วมคิดกับผู้บริหารในการบิดเบือน หรือ ออกงบการเงิน เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริหารเอง โดยจงใจในการสร้างราคาหุ้น หรือ ปิดบังข้อเท็จจริงจากผู้ถือหุ้น ก็มีเคสให้เห็นเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบการทำงานของผู้สอบบัญชี จึงทำให้กรณีดังกล่าวลดลงไปค่อนข้างมาก หากเทียบกับสมัยก่อน ดังนั้น นักลงทุนอาจจะสบายใจได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องหัดช่างสังเกตุในบางตัวเลขของงบการเงิน ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายในส่วนถัดไป ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่
หลักสูตรสอนลงทุน (เล่นหุ้น) สำหรับมือใหม่ สั้น กระชับ ใช้งานได้จริง อ่านต่อที่นี่